ขั้นตอนการใช้งานเรซิ่นหล่อใส

เป็นโพลิเอสเตอร์เรซิ่นที่ใช้สำหรับหล่อชิ้นงานให้มีความใส มีความยืดหยุ่นในการทำงานสูง สามารถปรับอัตราส่วนการผสม FILLER (สารเพิ่มเนื้อ) , เคมีผสมเรซิ่น และผสมสีผสมเรซิ่นที่เหมาะสมกับการทำงานและผลผลิตนั้นๆได้ โดยผู้ใช้งานควรศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนเริ่มใช้งาน


เรซิ่นหล่อใส 024-A (CLEAR CASTING POLYESTER RESIN)

คุณสมบัติสำคัญที่ควรรู้

  • ผสมโคบอลท์ชนิดใสมาแล้วจากการผลิต
  • ระยะเวลาการเซ็ตและแข็งตัวช้ากว่าเรซิ่นชนิดอื่นๆ
  • หากผสมตัวทำแข็งมากเพื่อเร่งให้แห้งเร็วเกินไปจะเกิดความร้อนสูง จนเรซิ่นอาจแตกได้
  • การใช้งานปริมาณมากหรือชิ้นงานที่มีความหนาควรลดอัตราส่วนตัวทำแข็งลงอีก
  • เมื่อแข็งตัวหรือทำปฏิกิริยาสมบูรณ์แล้ว ผิวเรซิ่นยังมีความเหนียวหลงเหลืออยู่
  • ผิวชิ้นงานอาจเป็นรอยย่น
  • จำเป็นต้องล้างความเหนียวบนผิวเรซิ่น และ ปรับผิวงานเสมอ
  • สามารถทำให้กลับมาเงาใสหลังปรับผิวงานได้โดย การปัดเงา หรือ เคลือบเงา
  • ชิ้นงานที่สำเร็จมีความแข็ง ไม่ยืดหยุ่น หากหล่นสามารถแตกหักได้ง่าย
  • หากมีการสัมผัสใช้งาน ผิวเรซิ่นอาจเกิดรอยขนแมวได้



ขั้นตอนการใช้งาน

  • เตรียมแม่พิมพ์และอุปกรณ์ให้พร้อมก่อนเริ่มผสมเรซิ่นหล่อใส
    แม่พิมพ์ - อาจะเป็นยางซิลิโคน เรซิ่นไฟเบอร์กล๊าส โลหะ พลาสติก ยางพารา ฯลฯ ควรสะอาดและสมบูรณ์ไม่มีตำหนิ
    กันติดผิวแม่พิมพ์ - แม่พิมพ์หรือพื้นผิวที่ต้องการเทเรซิ่นลงไป บางวัสดุเมื่อเรซิ่นแข็งตัวอาจยากต่อการถอดแบบหรือแกะชิ้นงานแล้วอาจเสียหายได้ สามารถใช้สารกันติดทาหรือพ่นบนชิ้นงานก่อนได้ เช่น แว๊กซ์ถอดแบบ ซิลิโคนสเปรย์ น้ำยา PVA เป็นต้น
    อุปกรณ์ - ตรวจสอบอุปกรณ์ก่อนการผสมเรซิ่น เพื่อความพร้อมก่อนขั้นตอนการเทหล่อที่มีเวลาจำกัด
    ภาชนะผสม - เลือกภาชนะที่เพียงพอต่อปริมาณเรซิ่นที่จะผสม แนะนำใช้ภาชนะพลาสติกที่ไม่แข็งและเปราะ เพราะเรซิ่นจะกัดพลาสติกได้ ภาชนะต้องไม่เปียกชื้นและสะอาด
    ตาชั่ง - เลือกใช้ตาชั่งดิจิตอล สามารถหักน้ำหนักภาชนะได้ แสดงผลน้ำหนักเป็นทศนิยมได้ และเมื่อใช้ผสมควรใช้ตาชั่งตัวเดียวกันตลอดการทำงาน
    ไม้คนผสม - จำเป็นที่ต้องใช้ไม้คนแบนๆ เพื่อการกวาด คนได้ทั่วถึงกว่า เช่นไม้ไอติม ไม้พายเป็นต้น ห้ามใช้ไม้คนทรงเรียวกลม เช่นตะเกียบ หรือด้ามพู่กัน
    ผ้าเช็ด - ใช้เศษผ้าชนิดใช้แล้วทิ้ง สีไม่ตก สามารถเช็ดแล้วทิ้งได้เลย เพราะเมื่อเช็ดสารเคมีไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่
    น้ำยาล้าง - อาซีโทน ใช้ชุบเศษผ้าเช็ดอุปกรณ์และมือหากเปื้อนเรซิ่นได้ อาจใช้สบู่หรือผงซักฟอกทำความสะอาดตามได้
    อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย - ควรใช้ ผ้าปิดจมูก หน้ากาก ผ้ากันเปื้อน ถุงมือ ป้องกันร่างกายขณะทำงานเรซิ่น
    กระดาษทราย , ผ้าทราย , เครื่องมือขัดปรับผิว - สำหรับการปรับผิวหลังเรซิ่นเซ็ตตัวแล้วเหลือรอยย่น ไม่เรียบ

  • การผสมและอัตราส่วนผสมโดยน้ำหนัก

การผสมเรซิ่นและตัวทำแข็งเข้าด้วยกันให้ได้ดี จำเป็นต้องใช้ไม้คนที่มีลักษณะแบน เช่น ไม้พาย หรือไม้ไอติมเป็นต้น คนผสมโดยการกวาดเนื้อเรซิ่นทั้งด้านข้างและด้านล่างของภาชนะผสมให้ทั่วเป็นเวลาอย่างต่ำ 2 นาที หากผสมในปริมาณสามารถใช้เครื่องมือช่วยผสมได้

อัตราส่วนผสม (โดยน้ำหนัก) เรซิ่นที่เหมาะสม

เรซิ่นหล่อใส 024-Aตัวทำแข็ง
1001

เรซิ่นหล่อใส 024-A เป็นเรซิ่นที่ผสมโคบอลท์ชนิดใสพิเศษจากการผลิต โดยตอนเริ่มใช้งานสามารถผสมตัวทำแข็งได้เลย เราสามารถควบคุมการทำงานโดยอัตราส่วนผสมโดยน้ำหนักที่แนะนำคือ ใช้เรซิ่น 100 กรัม และตัวทำแข็ง 1 กรัม 

ตัวทำแข็งเรซิ่น - มีหน้าที่ช่วยให้เรซิ่นที่ผสมโคบอลท์แล้วแข็งตัว

เพิ่มปริมาณตัวทำแข็งเรซิ่น : ช่วยให้เรซิ่นเซ็ตตัวเร็วขึ้น อาจมีฟองอากาศตกค้าง เรซิ่นมีสีเหลืองขึ้น อัตราการหดตัวเยอะขึ้น เรซิ่นมีความร้อนสูงขึ้น และอาจร้อนจนเกิดการแตกเสียหายได้

ลดปริมาณตัวทำแข็ง : เซ็ตตัวช้า มีเวลาไล่ฟองอากาศ หดตัวน้อยลง ความร้อนต่ำลง

ปริมาณการผสม

ก่อนผสมควรตรวจสอบปริมาณเรซิ่นให้เพียงพอสำหรับการหล่อที่คิดไว้ การผสมเรซิ่นหล่อใสในปริมาณที่ต่างกันมีผลต่อการทำฏิกิริยาเรซิ่น ยิ่งปริมาณเรซิ่นมากขึ้น ความร้อนจากการทำปฏิกิริยาจะสูงขึ้น ทำให้เรซิ่นเซ็ตตัวเร็วขึ้น ฟองอากาศอาจหลงเหลือในงานเยอะขึ้น และเรซิ่นหดตัวมากขึ้นด้วย กรณีที่ความร้อนสูงจัดอาจทำให้เรซิ่นเกิดเป็นรอยแตกร้าวได้
>ยิ่งผสมเรซิ่นมากขึ้นควรลดอัตราส่วนทำแข็งลง เช่น

เรซิ่นหล่อใสตัวทำแข็งอัตราส่วน
(เรซิ่นหล่อใส : ตัวทำแข็ง)
100 กรัม1100 : 1
 1,000 กรัม5 กรัม*100 : 0.5


*ตัวอย่างการลดอัตราส่วนของตัวทำแข็งลงเมื่อปริมาณการผสมต่อครั้งมากขึ้น

ความหนาของแม่พิมพ์หรือชิ้นงาน

แม่พิมพ์หรือชิ้นงานยิ่งมีความหนามาก ยิ่งมีความร้อนสะสมขณะทำปฏิกิริยามากขึ้น อาจทำให้ชิ้นงานแตกเสียหายได้

> ยิ่งงานมีความหนามากขึ้น หลักการคือต้องควบคุมไม่ให้เรซิ่นร้อนจัดเกินไป ทำได้โดยการลดอัตราส่วนตัวทำแข็งลง หรือระบายความร้อนออกจากพิมพ์ทุกทิศทางขณะทำงานให้มากที่สุด เช่น การทำแม่พิมพ์แช่ลงในน้ำ เป็นต้น



  • เทเรซิ่นลงแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้
    การหล่อเรซิ่นลงแม่พิมพ์ชนิดต่างๆ ควรระมัดระวังการตกข้างของฟองอากาศ หรือเรซิ่นเข้าไปไม่ทั่วทุกรายละเอียดของแม่พิมพ์ อาจเทหรือทาเรซิ่นบางส่วนลงแม่พิมพ์ก่อนและเกลี่ยเรซิ่นให้ทั่วด้วยแปรงหรือใช้มือช่วยบีบแม่พิมพ์ได้ จากนั้นจึงเทเรซิ่นส่วนที่เหลือตามเข้าไปในแม่พิมพ์

    > สามารถใช้เครื่องแวคคั่มเพื่อดูดฟองอากาศออกจากเนื้อเรซิ่นก่อนเทลงแม่พิมพ์ได้เช่นกัน อ่านเพิ่มเติม
    > เรซิ่นหล่อใส 024-A หรือโพลิเอสเทอร์เรซิ่นทุกชนิดสามารถติดไฟได้ ห้ามใช้ไฟเพื่อไล่ฟองอากาศเด็ดขาด

  • ทิ้งเรซิ่นให้เซ็ตตัวเป็นของแข็งและแห้งตัวสมบูรณ์
    เรซิ่นจะเริ่มเซ็ตตัวจากของเหลวเป็นเจลก่อน จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นของแข็งในที่สุด ควรพักเรซิ่นและแม่พิมพ์ไว้ในที่อากาศถ่ายเท ไม่อยู่ในห้องแอร์หรือที่ชื้น จะทำให้เรซิ่นแห้งช้ายิ่งขึ้น ทั้งนี้ระยะเวลาการเซ็ตตัวจนแห้งสมบูรณ์ขึ้นอยู่กับการผสมตัวทำแข็ง ความหนาของชิ้นงาน อุณหภูมิโดยรอบ และความชื้นในอากาศ

  • ถอดเรซิ่นที่แข็งตัวแล้วออกจากแม่พิมพ์ และทำการล้างผิวชิ้นงาน
    รซิ่นหล่อใสที่แข็งตัวสมบูรณ์แล้วจะมีผิวที่เหนียวแฉะ จับแล้วอาจเลอะติดมือซึ่งเป็นธรรมชาติของเรซิ่นหล่อใส เราสามารถใช้ทินเนอร์หรืออาซีโทน ชุบเศษผ้า เช็ดคราบเหนียวออกได้ และพักไว้ให้แห้ง 1 ชม.

  • ขัด ปรับผิว
    เมื่อผิวแห้งเราสามารถขัดผิวงานเรซิ่นที่มีรอยย่นให้เรียบได้โดยใช้กระดาษทรายน้ำ , ผ้าทราย หรือ เครื่องขัด โดยขัดไล่ความละเอียด* เริ่มต้นที่เบอร์หยาบที่สุด #400 แล้วตามด้วย #600 และจบที่ #1000 การขัดกระดาษทรายน้ำแต่ละเบอร์ควรขัดให้เรียบที่สุด โดยเฉพาะ No.1000 ระหว่างขัดควรให้น้ำเลี้ยงตลอดเวลาเพื่อพาตะกอนออกจากกระดาษทราย เมื่อขัดถึง #1000 แล้ว สังเกตุว่าผิวงานที่ได้จะเรียบเนียนมาก แต่ยังขุ่นไม่ใสทันที

    * การไล่เบอร์ของกระดาษทรายควรไล่ 3-4 ระดับเพื่อที่จะได้ชิ้นงานออกมาเรียบเนียนที่สุด ความละเอียดสามารถเลือกใช้ได้ตามชิ้นงานแต่ควรจบที่ความละเอียดเบอร์ 1000 ขึ้นไป

  • ปัดเงา / เคลือบเงา เพื่อจบงาน
    เราสามารถเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งเพื่อทำให้ชิ้นงานหลังขัดปรับผิวเสร็จ ออกมา เงา ใส สวยงาม สมบูรณ์ได้
    อ่านเพิ่มเติม

งานเรซิ่นหล่อใสที่สวยงามอาจต้องใช้เวลาในการผลิตสร้างสรรค์ผลงานมากกว่างานแบบอื่นๆ เนื่องจากขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อนกว่าเล็กน้อย และโอกาสเกิดการผิดพลาดและความเสียหายก็มากกว่า ทั้งเรื่องฟองอากาศ การแตกเสียหาย หรือความใสเงาของชิ้นงาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ยากจนเกินไป งานสำเร็จที่ออกมานั้นสวยงาม ดูมีคุณค่ามาก