ก่อนเริ่มใช้งาน

ปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อการทำงาน - การเซ็ตตัวของเรซิ่น

  • อุณหภูมิโดยรอบ
    อุณหภูมิโดยรอบพื้นที่ทำงานมีผลต่อการทำปฏิกิริยาของเรซิ่น ซึ่งอุณหภูมิที่เหมาะสมในการทำงานอยู่ที่ 28-30 องศาเซลเซียส
    > อุณหภูมิสูง - ยิ่งเร่งปฏิกิริยา ทำให้เรซิ่นเซ็ตตัวเร็วขึ้น หดตัวเยอะขึ้น เสี่ยงต่อการแตกร้าว
    > อุณหภูมิต่ำ - เรซิ่นจะเซ็ตตัวช้าลง ผิวอาจะเหนียวเหนอะ และยับเป็นรอยย่น

  • ความชื้นในอากาศ
    ความชื้นมีผลต่อการทำปฏิกริยาของเรซิ่น สังเกตุได้ชัดเจนจากวันที่สภาพอากาศปกติเปรียบเทียบกับวันที่ฝนตก โดยยิ่งอากาศชื้นเรซิ่นจะเซ็ตตัวและแห้งช้าลง ดังนั้นควรเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทำงานเรซิ่น หรือปรับการทำงานให้เหมาะสมกับสภาวะอากาศเวลานั้นๆ

  • การเตรียมผิวแม่พิมพ์หรือพื้นที่ที่จะเทเรซิ่น
    เรซิ่นอาจแห้งตัวไม่สมบูรณ์หากพื้นผิวนั้นๆมีความเปียกชื้น หรือมีสารเคมีอื่นๆตกค้าง ผู้ใช้งานควรเตรียมผิวให้แห้งและสะอาดก่อน ในกรณีที่เทลงแม่พิมพ์อาจจะต้องทาสารกันติด (Mold Release) ก่อน เพื่อการถอดแบบที่ง่ายยิ่งขึ้น และป้องกันการเสียหายจากการแกะชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์ หากเป็นแม่พิมพ์ยางซิลิโคน เรซิ่นโดยปกติแล้วเรซิ่นจะไม่ติดกับเนื้อยางซิลิโคน แต่หากเป็นแม่พิมพ์พลาสติก เหล็ก เรซิ่น ฯลฯ อาจจำเป็นต้องใช้แว็กซ์ถอดแบบ ทาบนแม่พิมพ์ก่อน

  • การผสมสี
    เนื้อเรซิ่นหล่อทั่วไปมีลักษณะโปร่งใส อมเหลือง หากผสม โคบอลท์ และตัวทำแข็ง เมื่อแข็งตัวแล้วสีจะเข้มขึ้นเปลี่ยนเป็นน้ำตาลอ่อนและขุ่นเล็กน้อย ซึ่งโคบอลท์และตัวทำแข็งต่างมีผลต่อการผสมสีของเรซิ่นเช่นกัน เรซิ่นไม่สามารถผสมสีชนิดอื่นๆได้ ไม่ว่าจะเป็นสีสูตรน้ำ หรือสูตรน้ำมัน จึงต้องใช้สีสำหรับผสมเรซิ่นโดยเฉพาะ

    สีผสมเรซิ่น - เรซิ่นสามารถผสมสีลงไปในเนื้อได้เลย โดยสีที่ผสมมีทั้งชนิดสีทึบและสีใส ไม่มีอัตราส่วนตายตัว สามารถเพิ่มลดตามความเข้ม-อ่อนที่ต้องการ การผสมสามารถผสมได้ทั้งก่อนหรือหลังผสมโคบอท์และตัวทำแข็งแล้ว สีผสมเรซิ่นมีส่วนทำให้เรซิ่นเซ็ทตัวช้าลงถ้าใส่ในปริมาณที่มากเกิน 5%

    โคบอลท์ (ตัวม่วง) - มีสีม่วงเข้ม เมื่อผสมแล้วเรซิ่นจะเปลี่ยนเป็นอมชมพูหรือม่วงตามปริมาณการผสม

    ตัวทำแข็ง - มีสีใส แต่เมื่อผสมกับเรซิ่นที่ผสมโคบอลท์แล้วจะทำปฏิกิริยากับโคบอลท์เปลี่ยนสีม่วงหรือชมพูเป็นสีเหลืองอมน้ำตาลใส การผสมตัวทำแข็งในปริมาณมากขึ้นอาจทำให้สีของเนื้อเรซิ่นอมเหลืองขึ้น

    วัสดุ หรือเอฟเฟคอื่นๆ - เช่นผงเรืองแสง ผงมุก กากเพชร กิลเตอร์ ทรายสี ฯลฯ สามารถผสมในเรซิ่นได้เช่นกัน ทั้งนี้ควรดูลักษณะของวัสดุนั้นๆว่าสามารถละลายในเนื้อเรซิ่นได้หรือไม่ หากละลายไม่ได้ มวลของวัสดุจะลอยหรือจมอยู่ในเนื้อเรซิ่นขณะเราผสม วัสดุต้องแห้งไม่เปียกชื้น กรณีต้องการผสมสีและวัสดุให้มีความโปร่งแสงควรผสมสีเรซิ่นชนิดใสเพื่อจะได้เห็น กากเพชร หรือ เอฟเฟคต่างๆที่ผสมลงไปในเนื้อเรซิ่นด้วย

  • การผสมสารเพิ่มเนื้อ
    เรซิ่นหล่อทั่วไปสามารถผสมสารเพิ่มเนื้อต่างๆเพื่อปรับคุณสมบัติของเนื้อเรซิ่นได้ สารเพิ่มเนื้อมักจะมีลักษณะเป็นผงคล้ายแป้ง ควรผสมลงในเนื้อเรซิ่นก่อนที่จะผสมโคบอทล์และตัวทำแข็ง ยิ่งผสมในปริมาณมากเนื้อเรซิ่นจะหนืดข้นยิ่งขึ้น ทำให้คนผสมยาก ทำงานยากขึ้นและมีโอกาสที่มีฟองอากาศตกค้างในชิ้นงานสูง

    แคลเซียม - ผสมเพื่อเพิ่มเนื้อเรซิ่น, ลดการหดตัว, ลดความเหนียวของผิวเรซิ่น, เพิ่มความแข็งแรง, เพิ่มมวลเรซิ่น และสามารถขัดแต่งได้ง่ายยิ่งขึ้น ผสมแล้วเนื้อเรซิ่นจะทึบสีขาวเทาอมเหลือง อัตรส่วนผสมไม่ควรเกิน 1:1 ของน้ำหนักเรซิ่น

    ทัลคั่ม - ไม่แนะนำให้ใช้กับเรซิ่นหล่อทั่วไป นอกจากราคาที่สูงเกินจำเป็นแล้ว จะทำให้เรซิ่นมีสีคล้ำ และหนืดมากเกินไป จึงไม่เหมาะกับการนำมาผสมกับเรซิ่นเกรดหล่อ

    สารเพิ่มเนื้ออื่นๆ เช่น ผงอลูมิเนียม, ผงเกล็ดแก้ว ,ผงหินอ่อน เป็นต้น

    ข้อควรทราบ
    - สารเพิ่มเนื้อที่นำมาผสมคจะต้องสะอาดและปราศจากความชื้น
    - กรณีที่ผสม FILLER (สารเพิ่มเนื้อ) ในปริมาณที่มาก แล้วทำให้เนื้อเรซิ่นข้นหนืด แก้ไขได้โดยการผสมโมโนสไตรีน เพื่อลดความหนืดลง สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น ลดปัญหาฟองอากาศตกค้าง ทั้งนี้โมโนไสตรีน ไม่ควรผสมเกิน 10% ของน้ำหนักเรซิ่น จะทำให้เรซิ่นแห้งช้าลง ผิวเหนอะได้

  • เคมีผสมเรซิ่น
    เรซิ่นหล่อทั่วไปสามารถผสมเคมีเพื่อปรับคุณสมบัติเรซิ่นให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานได้ โดยจะผสมลงในเนื้อเรซิ่นก่อนที่จะผสมโคบอทล์และตัวทำแข็ง

    โมโนสไตรีน - ตัวทำละลายเรซิ่น ผสมเพื่อลดความหนืดเรซิ่น ให้เนื้อเรซิ่นเหลวตัว ช่วยให้การผสมและการไล่ฟองอากาศสะดวกขึ้น การผสมในปริมาณอัตรส่วนที่มากขึ้นมีผลให้เรซิ่นเซ็ตตัวช้าลง มีความเปราะมากขึ้น ส่วนมากใช้ควบคู่งานที่ผสมแคลเซียมหรือต้องการเทลงในแม่พิมพ์ขนาดเล็ก

    โมโนแว็กซ์ - เป็นสารเคมีสำหรับผสมในเรซิ่น ช่วยปรับผิวงานเรซิ่นให้มันความลื่น มัน เงา ยิ่งขึ้น ลดความเหนียวบนผิวเรซิ่นได้ อีกทั้งยังสามารถเพิ่มคุณสมบัติเรซิ่นให้ทนการใช้งานที่สัมผัสน้ำ ให้ผิวเรซิ่นทนทาน ไม่เกิดฝ้า และคราบขาว เวลาโดนน้ำเป็นเวลานาน

    น้ำยาลดกลิ่นเรซิ่น - สารเคมีเปลี่ยนกลิ่นเรซิ่น ไม่ให้ฉุนจนเกินไป

    น้ำยาไล่ฟองอากาศเรซิ่น - ช่วยให้เรซิ่นมีความเหลวยิ่งขึ้น แห้งช้าลง ช่วยให้ไล่ฟองอากาศง่ายขึ้น ทั้งนี้ไม่ควรผสมเยอะเกินไป อาจมีผลทำให้ผิวเรซิ่นเหนียวได้

  • ลำดับการทำปฏิกิริยาของเรซิ่น
    - ผสมโคบอลท์และตัวทำแข็ง
    - เรซิ่นยังคงเป็นของเหลว มีเวลาทำงานก่อนที่อุณหภูมิจะเริ่มเพิ่มสูงขึ้น
    - อุณหภูมิสูงสุด เรซิ่นค่อยๆเริ่มเปลี่ยนจากของเหลวเป็นเจลเหนียว และมีการหดตัวลง
    - แข็งตัวเป็นของแข็ง ผิวภายนอกเหนียว
    - เรซิ่นเย็นตัวลง เป็นของแข็ง